ตำรวจใช้เวลาไม่ถึงวันจัดการปัญหาได้ลงตัว ไม่ให้เป็นแบบอย่างคนอื่น
ต้องยอมรับว่า ปัญหาเด็กแว้นเกิดขึ้นในสังคมไทยมานาน สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้คนใช้รถใช้ถนน รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน ให้ตำรวจแก้ไขให้เป็นรูปธรรม พล.ต.อ.จักรทิพย์ มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง มอบให้ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ เป็น ผอ.ศปข.ตร. หรือ “ศูนย์ปราบปรามเด็กแว้น”
ตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.2562 จนถึงปัจจุบัน ตำรวจแก้ปัญหาได้ค่อนข้างดี ทุก บช.บังคับใช้กฎหมาย ทำงานเชิงรุกต้นตอปัญหา 4 มาตรการตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ สืบสวนขยายผล และจัดเก็บข้อมูล ส่งผลให้การรวมกลุ่มแข่งรถป่วนบนท้องถนนของกลุ่มเด็กแว้นลดลงมาก
ผลการจับกุมตั้งแต่ 27 มิ.ย.2562-30 เม.ย.2563 อาทิ 1.แข่งรถในทางและขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยฯ และสนับสนุน 1,699 ราย ให้มีการแข่งรถหรือให้ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย 2.ดำเนินคดีบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 51 ราย 3.ทำทัณฑ์บนกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง ตามคำสั่ง หน.คสช. 28,988 ราย 4.ดำเนินคดี ร้านค้าดัดแปลงรถ หรืออุปกรณ์ 99,953 ราย 5.ตรวจพบท่อไอเสียไม่ได้มาตรฐาน 20,982 ราย 6.ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.รถยนต์ที่เกี่ยวข้อง 711,329 ราย
7.ดำเนินคดีกับแอดมินเพจยูทูบ 10 ราย 8.ตรวจยึดรถยนต์ 1,575 คัน รถจักรยานยนต์ 158, 251 คัน 9.จัดทำประวัติผู้กระทำความผิดและผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะแข่งรถในทาง 97,954 ราย กรณีจับกุมผู้ต้องหาส่งฟ้องศาล และศาลมีคำสั่งให้ริบรถของกลาง 144 ราย
สถิติการรับแจ้งเหตุที่ลดลงอย่างน่าพอใจ โดยข้อมูลของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 และ 1599 รวมทั้งศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. จากเดิมมีสถิติการรับแจ้งเหตุทั่วประเทศมากกว่า 1,500 รายต่อเดือน ปัจจุบันเหลือการรับแจ้งเหตุทั้งประเทศไม่ถึง 500 รายต่อเดือน
ในเดือน มิ.ย.มียอดรับแจ้งเหตุเพียง 103 ราย โดยเฉพาะในพื้นที่นครบาล ซึ่งเคยมียอดการรับแจ้งเหตุในเดือน มิ.ย.2562 ถึง 404 ราย แต่ปัจจุบันรับแจ้งไม่เกิน 30 รายต่อเดือน โดยเดือน พ.ค.2563 รับแจ้งเหตุเพียง 17 ราย ถือเป็นยอดเฉลี่ยการรับแจ้งเหตุแต่ละพื้นที่ บช.ละ 1 เหตุต่อวัน
ส่วนใหญ่จะเป็นการแจ้งเหตุขับรถส่งเสียงดังก่อความเดือดร้อนรำคาญ การรับแจ้งเหตุจากประชาชนในเรื่องการรวมตัวเพื่อแข่งรถในทางแทบจะไม่มีคนแจ้งร้องทุกข์เข้ามา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก ฝ่ายปกครอง และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำเด็ก เยาวชนและผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการแข่งรถในทาง ซึ่งเก็บข้อมูลประวัติไว้ในระบบ CRIMES ทั้งสิ้น 97,954 ราย มาอบรมเพื่อสร้างเสริมทักษะการขับรถให้ถูกต้องตามกฎจราจร และพัฒนาเป็นอาสาสมัครรับใช้สังคม
ผบ.ตร.ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน มีนโยบายมอบเงินค่าตอบแทนการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดให้แก่ประชาชน จ่ายค่าตอบแทนผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร ระหว่างวันที่ 3 ก.ย.2562-15 มิ.ย.2563 ประชาชนแจ้งข้อมูลเบาะแสการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง 4,267 ราย ขอรับเงินค่าตอบแทนและเข้าข่ายได้รับเงินค่าตอบแทน 19 ราย ซึ่งเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้แจ้งเบาะแสทั้ง 19 รายแล้วเป็นเงิน 57,000 บาท
พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวกับ “ทีมข่าวอาชญากรรม” ว่า “การแข่งรถในทางโดยผิดกฎหมายเป็นนโยบายสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มอบให้เป็น ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ตร. ในการทำงานร่วมกับศูนย์ของตำรวจทุก บช. เราทำงานกันทุกมิติ จากเดือน มิ.ย.2562 จนถึงปัจจุบันสถิติรับแจ้งเหตุเด็กแว้นลดลงต่อเนื่องเป็นที่น่าพอใจ ตำรวจดำเนินการ 4 มาตรการ ตั้งแต่มาตรการก่อนเกิดเหตุ ให้แต่ละพื้นที่ไปสำรวจข้อมูลร้านแต่งรถซิ่ง เด็กกลุ่มเสี่ยง มาตรการขณะเกิดเหตุมีการจับกุมทั้งขณะแข่งรถและหลังเกิดเหตุจะตามจับดำเนินคดีจากภาพกล้องวงจรปิด มาตรการสืบสวนขยายผลทุกการจับกุมทั้งเด็กที่ทำผิด แอดมินเพจ ผู้ปกครอง ร้านแต่งรถหรือเกี่ยวข้องกับใครดำเนินคดี และมาตรการสุดท้ายจัดทำฐานข้อมูลทำประวัติผู้กระทำผิดและผู้ที่มีความเสี่ยงในการกระทำผิด ตอนนี้มีข้อมูลในระบบ CRIMES เกือบ 90,000 ราย ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการวางแผน กำหนดมาตรการ ยุทธศาสตร์ในการป้องกันปราบปรามการแข่งรถในทาง ตำรวจทำงานเชิงรุก พยายามให้ตำรวจทุกนายที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ สืบสวนจับกุมเด็กแว้น โดยให้ตำรวจนครบาลที่มีประสบการณ์จับกุมสืบสวนขยายผล เป็นวิทยากรไปอบรมตำรวจในแต่ละพื้นที่ว่าจะต้องทำอย่างไรในทั้ง 4 มาตรการเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
“ตำรวจไม่ได้มองว่าเด็กแว้นเป็นคนไม่ดีทั้งหมด ส่วนใหญ่อาจเกิดจากความคึกคะนอง หลงผิด ข้อมูลที่ตำรวจมีหลายหมื่นรายนี้จะถูกเรียกมาอบรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดึงมาเป็นส่วนร่วม เป็นอาสาสมัครตำรวจช่วยแก้ปัญหาเด็กแว้น ฝากเตือนถึงผู้ปกครองให้ช่วยดูแลบุตรหลาน ไม่ปล่อยให้มาทำผิด ไม่เพียงแค่ลูกหลานถูกดำเนินคดี ผู้ปกครองต้องร่วมรับผิดชอบด้วย โทษการแข่งรถในทางตัดสินคดีส่วนใหญ่จะยึดรถที่ใช้ก่อเหตุทุกคัน ที่สำคัญปัญหาเด็กแว้นไม่เพียงแค่การแข่งรถบนถนนเท่านั้น ยังมีเรื่องยาเสพติด คดีเกี่ยวกับเพศ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น มาเกี่ยวข้องด้วย ทุกส่วนต้องช่วยกันแก้ไข ร่วมมือกับตำรวจ แม้สถิติการรับแจ้งเด็กแว้นลดลง แต่พอยกเลิกเคอร์ฟิวยังมีพวกอยากลองของออกมาทำผิด ตำรวจมีข้อมูลทั้งหมด จะเพิ่มความเข้มไม่ปล่อยไว้แน่ ตำรวจจะเอาจริงในปัญหาเด็กแว้นให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด”
การแก้ไขปัญหาเด็กแว้น แอดมินเพจนัดแข่งรถในทาง ลำพังตำรวจทำงานหน่วยเดียวไม่ได้ ที่สำคัญที่สุดคือ ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษา คนในชุมชนต้องร่วมช่วยกัน จับมือกับตำรวจ
เร่งแก้ไขปัญหาให้หมดไปจากสังคมไทย.
ทีมข่าวอาชญากรรม
June 21, 2020 at 05:01AM
https://ift.tt/37Oc4Nx
เลิกเคอร์ฟิว...ซ่า ผบ.จัดการเด็กแว้น - ไทยรัฐ
https://ift.tt/2ATQpXP
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เลิกเคอร์ฟิว...ซ่า ผบ.จัดการเด็กแว้น - ไทยรัฐ"
Post a Comment